1. “ความทรงจำโลก” กับ “มรดกโลก” เหมือนกันหรือเปล่า?
ทั้งสองโครงการเป็นงานของยูเนสโกเหมือนกัน แต่ต่างกันคือ “มรดกโลก” (World Heritage) เป็นมรดกที่ประกอบไปด้วยแหล่ง (sites) หรือสถานที่ ทั้งที่เป็น “แหล่งธรรมชาติ” หรือ “แหล่งทางวัฒนธรรม” ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน เมือง ฯลฯ แต่ต้องเป็นแหล่งที่มีคุณค่าเป็นเอก เป็นสากล สมควรที่ทั่วโลก จะช่วยกันปกป้องรักษาไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักชื่นชมสืบไป ทั้งนี้ยูเนสโกได้ประกาศอนุสัญญา ว่าด้วยมรดกโลกขึ้น โดยประเทศที่ร่วมเป็นภาคี ตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการ ตามนัยของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์ และดำเนินการเกี่ยวกับมรดกโลก
ประเทศไทยมีแหล่งธรรมชาติ ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้แล้ว 2 แห่ง คือ ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร กับเขาใหญ่-ดงพญาเย็น ส่วนมรดกวัฒนธรรมมี 3 แห่ง คือ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร อยุธยากับเมืองบริวาร และบ้านเชียง
ส่วนมรดกความทรงจำโลก ต้องเป็นมรดกทางเอกสาร หรือข้อมูลความรู้ที่บันทึกไว้ หรือประกาศถ่ายทอดออกมา ในรูปแบบหนังสือ สิ่งตีพิมพ์ รูปภาพ ฟิล์ม สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ต้องมีคุณค่ามากในระดับโลก จนสมควรพิทักษ์รักษาไว้ ไม่ให้สูญสลายเพื่อให้โลก ได้ศึกษาค้นคว้าสืบไป
2. ทำไมศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงจึงได้เป็นมรดกความทรงจำของโลก?
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่บันทึก และประกาศข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และนโยบายของรัฐโบราณ ให้สาธารณชนรับทราบ และมีผลต่อประวัติของโลก นอกพรมแดนวัฒนธรรมของไทย ทำให้เราเข้าใจความสำคัญ ของการปกครอง การค้าขาย การติดต่อแลกเปลี่ยน กับชาติต่างๆ ในช่วงเวลาของยุคสุโขทัย มีความสมบูรณ์ในตัวเอง นับเป็นเอกสารสาธารณะที่หายากยิ่ง
3. ขั้นตอนการพิจารณาตัดสินของยูเนสโกมีอย่างไรบ้าง?
ยูเนสโกมีเอกสารคู่มือการดำเนินงาน ซึ่งสมาคม และสถาบันห้องสมุดร่วมกับยูเนสโก จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ในคู่มือระบุความหมายของมรดกความทรงจำโลก วัตถุประสงค์ของโครงการความทรงจำโลก องค์ประกอบ การอนุรักษ์ และการเข้าถึง เพื่อใช้ประโยชน์ การสร้างความตระหนัก และการประชาสัมพันธ์ การอบรม ตลอดจนได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก มรดกความทรงจำโลกไว้ชัดเจน
เกณฑ์คัดเลือกที่สำคัญมี 4 เกณฑ์ คือ
1) ต้องเป็นของแท้ดั้งเดิม
2) โดดเด่นหาอื่นใดมาทดแทนมิได้
3) สำคัญระดับโลก
4) หายาก บริบูรณ์ เสี่ยงต่อการสูญสลาย และมีการบริหารจัดการที่ดี
4.ประเทศไทยทำอะไรบ้างในโครงการมรดกความทรงจำโลก และใครเป็นผู้ดำเนินการ?
ประเทศไทยมีคณะกรรมการมรดกโลกแห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก โดยคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต เป็นประธาน จัดประชุม และสร้างเครือข่ายบรรณารักษ์ นักจดหมายเหตุ นักวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจความตระหนัก ให้รวบรวมมรดกความทรงจำของไทย ที่ได้มีการบันทึกไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร และยังเป็นมุขปาฐะ และทำการอนุรักษ์ความทรงจำไทยในท้องถิ่น และระดับชาติไว้ นอกจากนี้ ยังเสนอแนะไปยังคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยยูเนสโก ให้พิจารณาเสนอไปยังยูเนสโก ให้ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำของไทย ที่มีคุณค่าพิเศษเป็นสากล ให้เป็นมรดกความทรงจำของโลกสืบไป
5. ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีการดำเนินการร่วมกันหรือไม่?
มี ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการมรดกโลก สำหรับเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่ง ม.ร.ว.รุจยา อาภากร นักประวัติศาสตร์ และบรรณารักษ์จากประเทศไทย ร่วมอยู่ในคณะกรรมการนี้
6. มรดกความทรงจำโลกนั้น วัตถุประสงค์ใหญ่เพื่ออะไรแน่ เพื่ออนุรักษ์ หรือเพื่อใช้ประโยชน์?
วัตถุประสงค์สำคัญเน้นทั้ง 2 ด้าน คือการอนุรักษ์ และการเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์ โดยขั้นแรกต้องป้องกันมิให้เอกสารมรดกความทรงจำโลก เป็นอันตรายสูญสลายไป โดยการอนุรักษ์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย นั่นคือขั้นแรกต้องอนุรักษ์ไว้ก่อน ตามขั้นตอน และหลักวิชาการ ขั้นต่อไปถึงจะเปิดให้บุคคล และสถาบันต่างๆ เข้าถึง และใช้ประโยชน์ จากเอกสารมรดกความทรงจำโลก
7. หลักเกณฑ์การอนุรักษ์มรดกความทรงจำโลกมีอะไรบ้างที่ไทยควรต้องเร่งพัฒนา?
มีหลักเกณฑ์อนุรักษ์สำคัญ 10 หลักเกณฑ์ คือ
1) ต้องลงทะเบียนควบคุมเอกสาร
2) ต้องจัดที่เก็บที่ปลอดภัย
3) ต้องรักษาสภาพเดิมของเอกสารไว้
4) ต้องถ่ายโอนเนื้อหาจากสภาพเดิมไปเก็บไว้ในวัสดุอีกแบบหนึ่ง เช่น ถ่ายสำเนา ย่อฟิล์ม ทำดิจิตัล ฯลฯ
5) ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม
6) ต้องป้องกันการเสื่อมสลาย
7) อนุรักษ์ข้อความในเอกสารเดิมเพื่ออ้างอิงความถูกต้อง
8) ต้องร่วมมือกับองค์การอื่นๆเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเผยแพร่
9) ใช้ภูมิปัญญาโบราณในการอนุรักษ์เอกสารดั้งเดิม
10) พัฒนามาตรฐานวิชาชีพเกี่ยวกับมรดกเอกสารความทรงจำ เช่นจัดฝึกอบรมทุกระดับ การสร้างเครือข่ายทุกระดับ ฯลฯ
8.การเข้าถึง และการใช้ประโยชน์จากมรดกเอกสารความทรงจำ มีหลักเกณฑ์ของยูเนสโกอย่างไร?
เป้าหมายสุดท้ายของการอนุรักษ์ ก็เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังมีโอกาสเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้สืบไป เอกสารมรดกทุกรูปแบบ จึงต้องเน้นในเรื่องการเข้าถึง และใช้ประโยชน์ แต่เอกสารบางประเภท เรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้ครอบครอง ตามปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เช่น สิทธิในการดำรงเอกลักษณ์ แต่ก็มีสิทธิของบุคคล ที่จะเข้าถึงเอกสารมรดกของชาติ สิทธิที่จะรู้ว่ามีมรดกเอกสารอยู่ที่ใด จะหาได้อย่างไรด้วย
สำหรับมรดกความทรงจำโลกนั้น จะเข้าไปค้นหาได้จากเว็บไซต์ www.unesco.org/webworld/mdm กับ www.unesco.org/webworld/digicolถาม
9.ปัจจุบันมีการศึกษาเรื่องมรดกความทรงจำโลกหรือไม่?
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักสูตรเรื่องมรดกความทรงจำของโลก แต่ยูเนสโกพยายามผลักดัน ให้มีการฝึกอบรมให้บรรณารักษ์ นักจดหมายเหตุ นักประวัติศาสตร์ นักสื่อสาร เห็นความสำคัญของมรดกความทรงจำ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับโลก ในอนาคต ควรมีหลักสูตรเรื่องนี้ อยู่ในหลักสูตรวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ และสารนิเทศศาสตร์ด้วย อย่างไรก็ตาม บรรณารักษ์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ กับนักนิเทศศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และนักพิพิธภัณฑ์ของไทย ที่มีอยู่จำนวนมาก ควรได้รับการฝึกอบรมให้ตระหนัก และเห็นความสำคัญของมรดกความทรงจำ และช่วยกันอนุรักษ์มรดกของเราไว้ เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนสืบไป
10.มรดกความทรงจำโลกที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชียูเนสโกจำเป็นต้องเป็นมรดกของโบราณเท่านั้นหรือไม่?
มีมรดกใหม่ๆไหม?
มรดกความทรงจำโลก ไม่จำเพาะว่าต้องเป็นของสมัยโบราณ แต่ต้องเป็นของแท้ที่สำคัญระดับโลก ที่หายาก และบริบูรณ์ ตัวอย่างมรดกความทรงจำโลก ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญ ในสมัยปัจจุบัน แต่มีผลกระทบต่อโลก ที่น่าสนใจ 2 รายการ ได้แก่
1) บันทึกรายการวิทยุของฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับการปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1986
2) แผ่นไม้ที่เขียนคำเรียกร้อง 21 ข้อของกลุ่มสหภาพการค้า และแรงงาน SOLIDARITY ของโปแลนด์ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในโปแลนด์ และขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในยุโรป ในปี ค.ศ. 1980